ต่อไปนี้คือรายชื่อกลุ่มแยกในกองทัพไทย หมายถึง กลุ่มที่มีความมุ่งหมายทางการเมืองร่วมกัน จับมือกันเป็นวิธีบรรลุเป้าหมายและผลักดันวาระและฐานะของพวกตน
จปร.5 (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 5) สมาชิกในกลุ่มนี้อาทิ พลโท สุจินดา คราประยูร พลโท อิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศโท เกษตร โรจนนิล และ พลเรือโท ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปราบ กบฏทหารนอกราชการ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 ต่อมานายทหารกลุ่มนี้เป็นแกนนำสำคัญในการรัฐประหารรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ในนาม คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ต่อมา พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้ประชาชนไม่พอใจจนกลายเป็น พฤษภาทมิฬ ในเวลาต่อมา
จปร.7 หรือ กลุ่มยังเติร์ก (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7) ซึ่งเป็นกลุ่มนายทหารหนุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองสมัยรัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ โดยสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งในปี 2520 แต่ในปี 2523 กดดันให้เขาลาออก จนสนับสนุนพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา สมาชิกในกลุ่ม อาทิ พลตรี มนูญกฤต รูปขจร อดีตประธานวุฒิสภาและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์, พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รวมถึงพลตรี จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น
กลุ่มนี้พยายามรัฐประหาร 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จทั้ง 2 ครั้ง คือ กบฏเมษาฮาวาย ในปี 2524 และ กบฏ 9 กันยา ในปี 2528 ด้วยในช่วงเวลานั้นหลายคนมีตำแหน่งคุมกำลังพล และหลายคนได้ผ่านสงครามครั้งสำคัญ ๆ มามาก เช่น สงครามเกาหลี, สงครามเวียดนาม, สงครามลับ
เตรียมทหาร 10 (ตท.10, โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10) รุ่นเดียวกับทักษิณ ชินวัตร (เดิมยศ พันตำรวจโท) นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 บุคคลสำคัญอื่นในรุ่นนี้ เช่น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีตผู้บัญชาการทหารบก, พลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ
ปลายปี 2552 มีข่าวว่า พลอากาศเอก สุเมธ โพธิ์มณี อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อ.ย.) ประกาศเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และแถลงว่าจะมีเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 อีกจำนวนมากเข้าร่วมพรรคด้วย และมีข่าวอีกครั้งในปี 2555
วงศ์เทวัญ ใช้เรียกทหารบกที่รับราชการในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล. 1 รอ.) ซึ่งมีฐานอำนาจที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมาจะได้เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยระดับคุมกำลังพลที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติ
บูรพาพยัคฆ์ ใช้เรียกกลุ่มทหารกองทัพบกที่รับราชการในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 รวมทั้งยังถือเป็นขั้วอำนาจสำคัญทางฝ่ายทหารที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลในระหว่างการรัฐประหารทั้งสองครั้งดังกล่าว บุคคลสำคัญของกลุ่มที่มีสื่อมวลชนมักกล่าวถึงในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองต่อมาถึงรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ได้แก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ที่โค่นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรแล้ว ขั้วอำนาจในกองทัพถูกเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มเตรียมทหาร 10 (ตท.10) มาสู่กลุ่มบูรพาพยัคฆ์ (กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์) และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ทหารเสือราชินี) ที่มีฐานอยู่ภาคตะวันออกมากกว่า เพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในรัฐประหารและมีบทบาททางการเมืองต่อมา มีการวางสายผู้บัญชาการทหารบกให้กลุ่มบูรพาพยัคฆ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลโท คณิต สาพิทักษ์ และพลตรีวลิต ซึ่งอาจจะยังมีเสนาธิการจากกลุ่มบูรพาพยัคฆ์อีก ทำให้ในปี 2553 มีเสียงร่ำลือกันว่า ยังความไม่พอใจมาสู่ทหารกลุ่มวงศ์เทวัญที่เดิมเคยกุมอำนาจมาก่อน จนกลายเป็นความขัดแย้งกันลึก ๆ ในกองทัพบก