กรรณิการ์ (อังกฤษ: night-blooming jasmine, tree of sadness, tree of sorrow, hengra bubar, coral jasmine; ชื่อวิทยาศาสตร์: Nyctanthes arbor-tristis) เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง ในวงศ์มะลิ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้จากตอนเหนือของปากีสถานและเนปาลไปทางใต้ถึงตอนเหนือของอินเดียและตะวันออกเฉียงใต้ของไทย ซึ่งถูกเรียกว่า seri gading ในประเทศสิงคโปร์ และเรียก shiuli ในภูมิภาคเบงกอล โคนก้านดอกมีสาร Nyctanthin มีสีเหลืองอมแสด ใช้ย้อมผ้าไหมได้ โดยเก็บดอกที่ร่วงแล้ว เด็ดเฉพาะส่วนหลอด ตากให้แห้ง ต้มกับน้ำกรองเอากากทิ้ง ใช้ย้อมผ้าไหมให้สีส้ม เปลือกต้นชั้นในผสมกับปูนขาวได้สีแดง ใช้ย้อมผ้าได้เช่นกัน ดอกใช้แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน เปลือกต้นชั้นในต้มน้ำดื่มแก้ปวดศีรษะ ใบแก้ไข้ รากใช้บำรุงกำลังแก้ท้องผูก
ชื่อสกุล Nyctanthes มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า nykhta แปลว่า กลางคืน และคำว่า anthos แปลว่า ดอกไม้ โดยรวมหมายถึง "ดอกไม้ที่บานตอนกลางคืน" และชื่อระบุชนิด arbor-tristis แปลว่า ต้นไม้ที่ดูไม่สดใส คาดว่าสื่อถึงจุดเด่นของพืชชนิดนี้ที่ดอกมีกลิ่นหอมเฉพาะช่วงกลางคืน และดอกร่วงยามสาย
Nyctanthes arbor-tristis เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็กสูงได้ถึง 10 เมตร (33 ฟุต) มีเปลือกไม้สีเทาและหลุดลอกง่าย ใบเป็นใบเดี่ยวและออกตรงข้ามกัน ยาว 6–12 เซนติเมตร (2.4–4.7 นิ้ว) กว้าง 2–6.5 เซนติเมตร (0.79–2.56 นิ้ว) มีขอบใบเรียบ ดอกมีกลิ่นหอม มีลักษณะเป็นกลีบดอกสีขาวแบ่งเป็น 5 ถึง 8 แฉก และมีศูนย์กลางสีส้มแดง ดอกจะออกเป็นกลุ่ม 2 ถึง 7 ดอก โดยแต่ละดอกจะบานในช่วงค่ำและเหี่ยวในช่วงเช้า ผลเป็นฝักแบนรูปหัวใจหรือกลมสีน้ำตาล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร (0.79 นิ้ว) แต่ละแฉกของผลมีเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว
นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ชอบแสงแดด จึงควรปลูกในที่แจ้ง ปลูกในดินร่วน ระบายน้ำได้ดี นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง
โคนก้านดอกมีสาร Nyctanthin มีสีเหลืองอมแสด ใช้ย้อมผ้าไหมได้โดยเก็บดอกที่ร่วงแล้ว เด็ดเฉพาะส่วนหลอด นำไปตากให้แห้ง ต้มกับน้ำกรองนำกากออก สามารถใช้ย้อมผ้าไหมได้ และยังสามารถใช้แต่งสีอาหารได้ และเปลือกต้นชั้นในผสมกับปูนขาวได้สีแดง ใช้ย้อมผ้าได้เช่นเดียวกัน
ราก: แก้อาการท้องผูก บำรุงกำลัง ป้องกันผมหงอก แก้ลม บำรุงผิว เป็นยาอายุวัฒนะ แก้อาการอ่อนเพลีย; เปลือกต้น: ต้มน้ำดื่มแก้อาการปวดศีรษะ แก้ไข้ แก้อาการไอ; ใบ: มีรสขมช่วยบำรุงน้ำดี แก้ปวดข้อ แก้ไข้ ขับพยาธิ กินมากเป็นยาระบาย ช่วยให้เจริญอาหาร และในประเทศอินเดีย ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ใช้เป็นยาขับประจำเดือน ดอกแก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน แก้พิษไข้ผอมเหลือง
มีตำนานที่เล่าว่า มีนางฟ้าองค์หนึ่งมาจุติบนโลก เป็นลูกสาวของมหาเศรษฐี เธอพบรักกับพระอาทิตย์ และตกลงจะแต่งงานกัน แต่แล้ววันหนึ่งพระอาทิตย์ กลับปันใจให้หญิงอื่น เธอเสียใจมากและตรอมใจตาย พ่อจึงได้ทำพิธีเผาศพด้วยตนเอง เมื่อมาเก็บกระดูก พบว่าบนกองขี้เถ้ามีต้นไม้ชนิดหนึ่งผุดขึ้นมาคือต้น กรรณิการ์ ด้วยเหตุนี้ดอกกรรณิการ์จึงบานตอนกลางคืน เพราะไม่ต้องการเจอกับพระอาทิตย์
ปัจจุบันคนไทยเชื่อว่าบ้านใดที่ปลูกกรรณิการ์ จะช่วยนำสิ่งดี ๆ ความสุข ความเจริญมาสู่ครอบครัว เป็นที่พึ่งให้แก่ผู้อื่นได้ เหมาะปลูกทางทิศ ตะวันออกหรือทางทิศใต้ นอกจากนี้ชาวฮินดูยังใช้ บูชาเทพเจ้า จึงเป็นไม้มงคลของชาวอินเดีย